สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

แก๊สน้ำตา

แก๊สน้ำตา

 

           แก๊สน้ำตา (tear gas)

            แก๊สน้ำตา เป็นคำที่ใช้เรียกกลุ่มสารเคมีที่ใช้ในการควบคุมจราจล ซึ่งอาจอยู่ในรูปของแข็ง (ผง) หรือของเหลวก็ได้ สารที่เกี่ยวข้องมากกว่า 12 ชนิด แต่ที่สำคัญมีอยู่ 3 ชนิดได้แก่

            1. Chloroacetophenone หรือ CN gas (CAS No. 532-27-4; UN Class 6.1; UN Number 1697; UN Guide 153; เป็นยุทธภัณฑ์ชนิด 1 ภายใต้การควบคุมตามพระราชบัญญัติควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ. 2530) ได้รับการคิดค้นขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 แต่นำมาใช้ในช่วงสงครามเวียดนามโดยกองทัพสหรัฐอเมริกา ในช่วง ค.ศ. 1960-1979 มีการนำมาใช้ในการปราบจราจลและในกิจการของเจ้าหน้าที่ที่ดูแลด้านความมั่นคงและความปลอดภัย โดยการใช้งานจะอยู่ในรูปละอองลอยที่บรรจุในภาชนะอัดความดัน ต่อมานำมาใช้เป็นอุปกรณ์ป้องกันตัวแต่ก็ลดน้อยลงมากแล้วในปัจจุบัน เนื่องจากระยะเวลาออกฤทธิ์ค่อนข้างนานและใช้ไม่ค่อยได้ผลกับคนติดยาและติดเหล้า

            2. Chlorobenzylidenemalonitrile
: CS gas (CAS No. 2698-41-1; เป็นยุทธภัณฑ์ชนิด 1 ภายใต้การควบคุมตามพระราชบัญญัติควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ. 2530) เป็นผงผลึกสีขาว เมื่อไหม้ไฟจะก๊าซไม่มีสี ค้นพบครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1928 แต่ยังไม่มีการใช้จนกระทั่งสงครามเวียดนามจึงมีการใช้เป็นอาวุธสงครามอย่างกว้างขวางและต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้

            3. Dibenzoxazepine
: CR gas (CAS No. 257-07-8; เป็นยุทธภัณฑ์ชนิด 1 ภายใต้การควบคุมตามพระราชบัญญัติควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ. 2530) กระทรวงกลาโหมของอังกฤษพัฒนาขึ้นในช่วงต้นทศวรรษ 1960 มีลักษณะเป็นผลึกสีเหลืองซีดมีกลิ่นคล้ายพริกไท ในสหรัฐอเมริกาไม่ใช้สารตัวนี้เป็นสารควบคุมจราจล เนื่องจากมีสมบัติก่อมะเร็ง


            โดยปกติแล้ว หลังจากออกมาจากบริเวณที่มีแก๊สน้ำตาและทำความสะอาดร่างกายแล้ว อาการที่เกิดขึ้นจะคงอยู่ประมาณ 30-60 นาที เท่านั้น ถ้าสัมผัสแก๊สน้ำตาเป็นเวลานานๆ เช่น มากกว่า 1 ชั่วโมง หรือได้รับสัมผัสปริมาณมากๆ ในพื้นที่อับอากาศ อาจส่งผลกระทบร้ายแรงได้ เช่น ตาบอด ต้อหิน ระบบหายใจล้มเหลว และเสียชีวิตเนื่องจากสารเคมีจะไหม้ลำคอและปอด ปริมาณที่ทำให้เสียชีวิตได้จะมากกว่าปริมาณที่ใช้ในการสลายการชุมนุมหลายร้อยเท่า

 

ผู้ที่ถูกแก๊สน้ำตาจะได้รับอันตราย ดังนี้

1.ผลโดยตรงจากแก๊สน้ำตา แสบร้อน ปวดที่ตา ปาก จมูก และทางเดินหายใจ น้ำตาไหลพราก  ตามองไม่เห็น น้ำมูก  น้ำลายไหล ไอ  หายใจลำบาก ส่วนใหญ่จะหายเอง ในไม่ถึงหนึ่งชั่วโมง และจะหายเร็วขึ้น ถ้าได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง ยกเว้นกรณีสัมผัสมากๆ เช่น หากหายใจเข้าไป อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ รวมถึงอาจผลระยะยาว ต่อตับ
2.อันตรายจากชิ้นส่วนเมื่อระเบิด เพราะแก๊สน้ำตา มักจะอยู่ในกระป๋อง ที่แตกออก เมื่อยิงใส่ แรงอัด ไม่มากนัก แต่ก็ทำให้เกิดบาดเจ็บได้ เมื่อระเบิดใกล้ตัว
3.อันตรายจากคนรอบข้างที่ตกใจ ชน เหยียบกัน

 “ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น หอบ หืด โรคผิวหนัง รวมถึง เด็ก คนชรา หญิงตั้งครรภ์  ผู้สวมใส่คอนแท็คเลนส์ จะได้รับอันตรายจากแก๊สน้ำตามากกว่าคนปกติ


ผลของแก๊สน้ำตาต่ออวัยวะต่างๆ

1.ตาและการมองเห็น - ทำให้มองเห็นไม่ชัด ตาแดง ตาบอดชั่วคราวจากการระคายเคืองต่อเยื่อบุตา ทำให้มีน้ำตาไหลเป็นปริมาณมาก ต้องปิดตาไว้ตลอดเพราะถ้าลืมตาเมื่อไหร่ก็จะมีน้ำตาไหลออกมา
2.ทางเดินหายใจ -
แน่นหน้าอก ไอ ระคายเคืองต่อเยื่อบุทางเดินหายใจ ทำให้มีอาการแสบโพรงจมูกและทางเดินหายใจ ทำให้มีน้ำมูกมาก น้ำมูกไหล จมูกบวมแดง เกิดอาการไอและจาม หายใจขัด รู้สึกอึดอัด หายใจมีเสียงดัง หายใจถี่ เพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจ ทำให้ คลื่นไส้ อาเจียนอาการอาจจะรุนแรงถึงหลอดลมอักเสบหรือปอดอักเสบได้
3.ผิวหนัง -
สร้างความระคายเคือง ต่อ ผิวหนัง เกิดรอยไหม้เป็นผื่นแดงบริเวณที่สัมผัสสารเคมี ทำให้ปวดแสบปวดร้อนบริเวณนั้น  ปากไหม้และระคายเคือง กลืนลำบาก น้ำลายไหลย้อย
4.อื่นๆ - อาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียน มีรายงานว่า อาจทำให้เกิดภาวะสับสนทางจิต, ปวดศีรษะ, ปวดขา, หัวใจเต้นแรง, เห็นภาพหลอน และแท้งบุตรได้

 

ควรทำอย่างไร เมื่อถูกสลายการชุมนุมด้วยการยิงแก๊สน้ำตาใส่ 

            ถ้าอยู่ในวิถีของแก๊สน้ำตาที่ยิงมา ให้วิ่งไปทิศตรงกันข้ามกับทิศที่ยิงแก๊สน้ำตาจนพ้นระยะกลุ่มแก๊ส ไม่ควรวิ่งไปด้านข้างเพราะมีโอกาสสัมผัสแก๊สน้ำตาได้อยู่ การมองเห็นอาจพล่ามัวและอาจสับสนได้ง่าย ดังนั้นระวังอย่าวิ่งเข้าไปหาตำรวจ  ให้ทำใจให้สงบมองดูรอบๆ ตัว แล้วค่อยเคลื่อนไปยังที่ที่ปลอดภัย ถ้าเป็นไปได้ให้ไปอยู่เหนือลมและปล่อยให้ลมพัดผ่านส่วนของร่างกายที่โดนแก๊สน้ำตา จะช่วยให้แก๊สน้ำตาหลุดไปได้เร็วขึ้นและล้างด้วยสารละลายโซเดียมเมตาไบซัลเฟตหรือน้ำเปล่า อย่าเอามือไปโดนเพราะจะทำให้แก๊สน้ำตาขยายวงและซึมเข้าผิวหนังได้ จากนั้นอาจเข้าร่วมชุมนุมต่อได้ทันที เพราะแก๊สน้ำตาปริมาณน้อยจะส่งผลเพียงไม่กี่นาทีเท่านั้น และถ้ามีโอกาสให้ล้างตัวด้วยน้ำเย็น อย่าใช้น้ำร้อน เพราะน้ำร้อนทำให้รูขุมขนเปิดกว้างขึ้นทำให้แก็สน้ำตาซึมเข้าไปได้ง่ายขึ้น

            หลังเสร็จสิ้นการชุมนุมให้ผึ่งเสื้อผ้าในที่มีอากาศถ่ายเทสะดวกเพื่อไล่แก๊สน้ำตาที่ติดอยู่ออก ประมาณ 1 วัน หรือซัก 2 ครั้งด้วยน้ำเย็นก่อนแล้วค่อยซักอีกครั้งด้วยน้ำร้อน

            เนื่องจากแก๊สน้ำตาละลายได้ในไขมัน ดังนั้นไม่ควรใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงและปกป้องผิวที่มีส่วนผสมของน้ำมันหรือวาสลีน


หากอยู่ในเหตุการณ์ที่เสี่ยงต่อแก๊สน้ำตา ควรมีอุปกรณ์และป้องกันตัว คือ

1.อย่าใช้โลชั่น น้ำมัน หรือสารพวกสบู่  สารเหล่านี้จะดูดซึมแก๊ส
2.หากจะใช้ครีมกันแดดให้ใช้ชนิดที่ละลายน้ำ อย่าใช้ชนิดที่เจือน้ำมัน
3.ใส่เสื้อผ้าแขนยาวที่ปกปิดผิวหนังให้มากที่สุด  สวมหมวกด้วย
4.หากหาหน้ากากไม่ได้อาจสวมแว่นที่ใช้ว่ายน้ำ  ใช้ผ้าชุบน้ำปิดจมูก

 

วิธีปฏิบัติตนเมื่อต้องสัมผัสกับแก๊สน้ำตา

1.อย่าตกใจ พยายามให้อารมณ์อยู่ในความสงบมากที่สุด หายใจช้าๆ หนีไปอยู่สถานที่ที่อากาศถ่ายเทได้และอยู่เหนือลมและหาอุปกรณ์ป้องกันก๊าซเท่าที่จะหาได้
2.สั่งน้ำมูก ไอ บ้วนน้ำลาย บ้วนปากมากๆ เพื่อไล่แก๊สที่อาจอยู่ในระบบทางเดินหายใจออกมา อย่าสูดกลืนเข้าไป
3.จากนั้นให้ล้างตา จมูก ปาก และผิวหนังที่สัมผัสกับแก๊สน้ำตาด้วยน้ำสะอาด โดยให้น้ำไหลผ่านปริมาณมากๆ ถ้าใส่คอนแทคเลนส์ ควรรีบถอดก่อนระคายเคืองมากขึ้น
4.อย่าเกา อย่าถูไถตามผิวหนัง
5.ถ้าเสื้อผ้าที่สวมใส่อยู่มีการปนเปื้อนของก๊าซมาก ควรถอดหรือเปลี่ยนเสื้อผ้าที่ใส่อยู่
6.กรณีที่มีอาการรุนแรงหรืออาการไม่ดีขึ้นหลังจากที่ออกจากบริเวณที่มีแก๊สน้ำตาและได้รับการปฐมพยาบาลข้างต้นแล้ว ควรรีบไปปรึกษาแพทย์

 

ที่มา:    http://www.chemtrack.org/News-Detail.asp?TID=2&ID=68
http://www.komchadluek.net/2008/09/01/x_main_a001_218813.php?news_id=218813
http://www.oursiam.net/index.php?module=webboard&submodule=view&category=4&id=728

 

 

view