สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

7 ขั้นตอน หยุดความโกรธ‏

7 ขั้นตอน หยุดความโกรธ‏

  พระพยอม กัลยาโณ เคยกล่าวว่า "โกรธคือโง่ โมโหคือบ้า" เราทุกผู้ทุกคนก็รู้ดีว่า การโมโหโกรธเป็นสิ่งไม่ดี เพราะมีแต่จะทำร้ายตนเองงและผู้อื่น แม้เข้าใจขนาดนี้ก็ยังระงับไม่อยู่ มีการโมโหจนได้ เมื่อใครทำอะไรไม่ถูกใจหรือคิดเห็นไม่เหมือน

         
แล้วเราจะทำอย่างไรเพื่อลดละความโกรธ จะทำอย่างไรเพื่อผ่อนหนักให้เป็นเบา ทำอย่างไรเพื่อมิให้ความขัดแย้งขยายบานปลายกลายเป็นความรุนแรง ในทางพุทธศาสนาได้แนะแนวทางปฏิบัติ 7 ขั้นตอน ระงับความโกรธไว้ดังนี้

1. ตั้งสติ เมื่อมีเหตุเข้ามากระทบ

          ควบคุมอารมณ์ อดทนเมื่อต้องเผชิญกับเหตุที่ไม่พึงต้องการ

2. เมื่อรู้สึกโกรธ ให้ปลุกสติรู้ตัวทันที

          ให้ปรับเปลี่ยนความสนใจ หลบหลีกไม่สนใจในเรื่องนั้น ถ้าเป็นไปได้จงย้ายตัวเอง เลี่ยงสิ่งแวดล้อมที่สร้างความโกรธ เพื่อตัดภาวะปัจจัยที่จะเข้ามากระทบออกไปให้ไกลตัว


3. ให้นึกเสมอว่า "ความโกรธเป็นศัตรูร้ายทำลายตัวเราเอง"

          คนที่โกรธง่าย อารมณ์เสียตลอดเวลา จะมีหน้าตาบึ้งตึงขุ่นมัว เสื่อมสุขภาพจิต ไม่เป็นที่รักของใคร มีแต่คนอยากหลีกลี้หนีหาย ถ้าเราเป็นคนโกรธง่าย ก็มีแต่ทำลายบุคลิกภาพตัวเอง ถ้าเป็นผู้อื่นเขาจะทำร้ายตัวเองโดยไม่รู้ตัว


4. แผ่เมตตาให้กับคนที่โกรธเรา

          นึกถึงใจเขาใจเรา ทำไมเขาถึงทำอย่างนั้น ให้เข้าใจธรรมชาติมนุษย์มีทั้งดีและเสีย ไม่มีใครสมบูรณ์แบบ ให้คิดเสียว่าที่เขาโกรธ เพราะเขามีทุกข์ที่ต้องการระบายออก เขาหาคนช่วยเยียวยาอาการ


5. เตือนตนเองเสมอ "อย่าโกรธตอบ"

          เพราะถ้าเราโกรธตอบเท่ากับเราเดินเข้าไปติดกับดักทางอารมณ์ เรากำลังช่วยขยายเหตุการณ์ให้รุนแรง และยืดยาวขึ้น ยิ่งโกรธตอบยิ่งเสียหาย เปรียบดังแสงที่ตกกระทบบนกระจกเงานับร้อยบาน ที่สะท้อนไปสะท้อนมาจนไม่มีสุดสิ้น


6. อยู่ห่างไกลหรือหลีกเลี่ยงการพบปะกับคนที่ขี้โมโห โกรธง่าย

          การอยู่ใกล้เหมือนเรามีเชื้อไฟที่คุกรุ่นอยู่ข้างกายตลอดเวลา จะทำให้เราเคยชินจนกลายเป็นคนโกรธง่ายไปด้วย


7. อย่าคิดแบ่งแยก แบ่งฝักแบ่งฝ่าย

          มีแต่เพื่อนร่วมโลก ร่วมทุกข์ ร่วมสุข มนุษย์ได้ชื่อว่าเป็นสัตว์ประเสริฐเลิศเลอ ไม่มีสิ่งมีชีวิตอื่นใดเทียบเคียงได้ มนุษย์เป็นสัตว์สังคม รวมกันเพื่ออยู่ เพื่อสร้างสรรค์ มิใช่เพื่อทำลาย มิใช่เพื่อประหัตประหารห้ำหั่น และนี่คือเป้าประสงค์ของการมีชีวิตอย่างมีคุณค่า

view